ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม: มองอดีต คิดถึงอนาคต”  

วันอังคารที่ 21 กันยายน 2553  เวลา 8.30-11.35 น.

 ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

จัดโดย กองเอเชียตะวันออก 2 (ฝ่ายเวียดนาม) กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ

และ ศูนย์CLMVศึกษาและพัฒนา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เชื้อสายของคนไทยและเวียดนามเมื่อประมาณ 4 พันปีมาเเล้วล้วนแต่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ความเปลี่ยนแปลงทางการปกครองในอดีตอันยาวนาน  การก่อตั้งอาณาจักรโบราณต้องรวบรวมอาณาจักรใหม่บ้างหรือการอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่บ้าง จนทำให้เกิดอาณาจักรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ชาวเวียดนามเดิมตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ของจีน การรุกรานของเผ่าที่มีกำลังหรืออำนาจที่เข้มแข็งกว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ชนเผ่าที่อ่อนกำลังกว่าจึงมีการอพยพถอยร่นมาทางใต้ การรุกรานจากจีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในภูมิภาคนี้ ความพยายามที่ชาวจีนนำวัฒนธรรมจีนทางด้านต่างๆไปเผยเเพร่ที่ดินเเดนเเห่งนี้ กลับถูกชาวพื้นเมืองต่อต้านอย่างรุนเเรง ในสมัยราชวงศ์ถังพื้นที่ประเทศเวียดนามต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนบ่อยครั้ง และเกิดการต่อสู้กับจีนบ่อยที่สุด ในขณะที่จีนครอบครองอยู่ชาวจีนมักจะยพยพเข้าไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อกลืนชาติชาวเวียดนาม ศิลปะของจีนทุกเเขนง ศาสนาพุทธ ลัทธิต่างๆ รวมทั้งอักษรจีน ได้เข้าสู่ดินเเดนเเห่งนี้ สมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์หมิงภายใต้การบริหารอันเข้มเเข็งของรัฐบาลจีนมีการบังคับให้ชาวเวียดนามเเต่งกายตามเเบบชาวจีน ทำลายล้างความเป็นชาติเวียดนามโดยการเผาบันทึกทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งหากเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ไทยแล้ว ก็พบว่าการอพยพ  การต่อสู้หรือการรุกราน ก็มีมาตลอดเฉกเช่นเดียวกัน

ประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ ไทย-เวียดนาม  เป็นประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนาน มีความเป็นมาหยั่งรากลึกเข้าไปในอดีตอันไกลโพ้น มิใช่เริ่มกันแค่เพียงในคริสตศตวรรษที่ 20 นี้เท่านั้น หากจะสืบสานราวเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ในอดีตก็คงจะพบว่าการติดต่อสัมพันธ์หยั่งรากลึก และมีความเป็นมาจากการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้า นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 12 เป็นอย่างน้อย  ประเทศไทย-เวียดนามมีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าในตอนต้นศตวรรษที่ 12 คือ ปี ค.ศ.1184 โดยพ่อค้าจากสยามได้เดินทางไปทำการค้าที่เมืองเวิน โดน (Van Don) ที่อ่าว Ha Long ต่อมาในศตวรรษที่ 15 เรือสินค้าและทูตจากกรุงศรีอยุธยาก็ได้เดินทางไปอีกครั้ง เพื่อขอค้าขายและขอให้ลดหย่อนภาษีเทียบท่าเพื่อนำสินค้ามาขาย หรือเรือสินค้าเข้ามาหลบพายุ หรือต้องผ่านทะเลไปยังประเทศอื่นเช่น จีน โดยเวียดนามได้ตอบตกลงการลดหย่อนภาษีของกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งส่งเครื่องบรรณาการมายังราชสำนักแห่งกรุงศรีอยุธยา การค้าและการติดต่อสัมพันธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีทางการค้าและทางการทูตระหว่างสองฝ่ายในขณะนั้น และก็ดำเนินด้วยดีโดยตลอดมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 19 ว่ากันว่าจากศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 19 นั้น สยามได้ส่งเรือไปค้าขายกับเวียดนามที่ Hoi Au (อยู่ทางใต้ของคาบัส) และตามท่าเรือทางใต้ของประเทศถึง 40-50 ลำ

            ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสองเด่นชัดอีกครั้งในรัชสมัยราชวงศ์จักรี ในช่วงต้นดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีไมตรีอันดีต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามได้เสื่อมลงในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะความไม่ไว้วางใจ ความหวาดระแวงอันสืบเนื่องมาจากการแข่งขันและแสวงหาอิทธิพลในลาวและเขมรของไทยและเวียดนาม  และในช่วงสงครามเวียดนาม  ประธานาธิบดี ตรันวันมินห์ แห่งเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย โดยกระทรวงกลาโหมของไทยได้จัดกำลังรบภาคพื้นดิน ไปปฏิบัติการใน เวียดนามใต้   หลังจากนั้นต่อมาไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519  และเปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงฮานอย และสถานกงสุลใหญ่ที่นครโฮจิมินห์ เมื่อปี 2521 และ 2535 ตามลำดับ  ประเทศเวียดนามเองก็ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทยเมื่อปี 2521  สถานะความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - เวียดนามในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดี ไม่มีปัญหาสำคัญค้างคา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันเพิ่มขึ้น รวมถึงในระดับท้องถิ่นจากการที่มีเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันค่อนข้างสะดวก ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำความตกลงรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างกันรวมแล้วกว่า 40 ฉบับ  ส่วนความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนของไทยกับเวียดนาม นับแต่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันได้พัฒนาสูงขึ้นเป็นลำดับ ในปัจจุบันมูลค่าทางการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความน่าสนใจในประวัติศาสตร์อันยาวนานของทั้งสองประเทศเป็นมาอย่างไรมีความน่าตื่นเต้นตึงเครียดแค่ไหน เป็นสิ่งที่ควรรู้เขารู้เรา ดังนั้นสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ จึงเห็นควรจัดสัมมนาในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม: มองอดีต คิดถึงอนาคต” ขึ้น

 

 

 

          

            กำหนดการและใบตอบรับเข้าร่วมงาน

 

 
 

สอบถามรายละเอียดได้ที่ : สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์รังสิต โทร.0-2564-5000-3 โทรสาร 0-2564-4777  prasia.tu@gmail.com,     http://www.asia.tu.ac.th