จรรยาบรรณนักวิจัย
แนวทางปฏิบัติ จรรยาบรรณนักวิจัย
สภาวิจัยแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
ความเป็นมา
ปัจจุบันนี้ผลการวิจัยมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างยิ่ง
หากงานวิจัยที่ปรากฎสู่สาธารณชน มีความเที่ยงตรง
นำเสนอสิ่งที่เป็นความจริงสะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
การที่จะให้ได้มาซึ่งงานวิจัยที่ดีมีคุณภาพ
จำเป็นต้องมีส่วนประกอบสำคัญหลายประการ
นอกจากการดำเนินตามระเบียบวิธีการวิจัยอย่างมีคุณภาพแล้ว
คุณธรรมหรือจรรยาบรรณของนักวิจัยเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งประการหนึ่ง
คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
สาขาสังคมวิทยาตระหนักถึงความสำคัญของ จรรยาบรรณนักวิจัยดังกล่าว
จึงได้ริเริ่มดำเนินการยกร่างจรรยาบรรณนักวิจัยเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
เพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการ ในสาขาวิชาการต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติ
โดยผ่านกระบวนการขอรับความคิดเห็นจากนักวิจัย
ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาการต่างๆ และได้
ปรับปรุงให้เหมาะสมรัดกุมชัดเจนจนกระทั่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ
ประกาศใช้เป็นหลักเกณฑ์ควรประพฤติของนักวิจัยทั่วไป
วัตถุประสงค์
เพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติของนักวิจัยทั่วไป
โดยมีลักษณะเป็นข้อพึงสังวรณ์มากกว่าจะเป็นข้อบังคับ
อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างจรรยาบรรณในหมู่นักวิจัยต่อไป
นิยาม
นักวิจัย
หมายถึง
ผู้ที่ดำเนินการค้นคว้าหาความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อตอบประเด็นที่สงสัย
โดยมีระเบียบวิธีอันเป็นที่ยอมรับในแต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งครอบคลุมทั้งแนวคิด
มโนทัศน์และวิธีการที่ใช้ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
จรรยาบรรณ
หมายถึง
หลักความประพฤติอันเหมาะสม แสดงถึงคุณธรรมและ จริยธรรมในการประกอบอาชีพ
ที่กลุ่มบุคคลแต่ละสาขาวิชาชีพประมวลขึ้นไว้เป็นหลัก
เพื่อให้สมาชิกในสาขาวิชาชีพนั้นๆ ยึดถือปฏิบัติ
เพื่อรักษาชื่อเสียงและส่งเสริมเกียรติคุณของสาขาวิชาชีพของตน
จรรยาบรรณนักวิจัย
หมายถึง
หลักเกณฑ์ควรประพฤติปฏิบัติของนักวิจัยทั่วไป
เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม
ตลอดจนประกันมาตรฐานของการศึกษาค้นคว้าให้เป็นไปอย่างสมศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของนักวิจัย
จรรยาบรรณนักวิจัย : แนวทางปฏิบัติ
ข้อ 1.
นักวิจัยต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ
นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน
ไม่ ลอกเลียนงานของผู้อื่น
ต้องให้เกียรติและอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในงานวิจัย
ต้องซื่อตรงต่อการแสวงหาทุนวิจัยและมีความเป็นธรรมเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย
แนวทางปฏิบัติ
1.1 นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น
นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ในทุกขั้นตอนของกระบวนการวิจัย
ตั้งแต่การเลือกเรื่องที่จะทำวิจัย การเลือกผู้เข้าร่วมทำวิจัย
การดำเนินการวิจัย ตลอดจนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
นักวิจัยต้องให้เกียรติผู้อื่น
โดยการอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลและความคิดเห็นที่นำมาใช้ในงานวิจัย
1.2 นักวิจัยต้องซื่อตรงต่อการแสวงหาทุนวิจัย
นักวิจัยต้องเสนอข้อมูลและแนวคิดอย่างเปิดเผยและตรงมาในการเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุน
นักวิจัยต้องเสนอโครงการวิจัยด้วยความซื่อสัตย์โดยไม่ขอทุน ซ้ำซ้อน
1.3
นักวิจัยต้องมีความเป็นธรรมเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย
นักวิจัยต้องจัดสรรสัดส่วนของผลงานวิจัยแก่ผู้ร่วมวิจัยอย่างยุติธรรม
นักวิจัยต้องเสนอผลงานอย่างตรงไปตรงมา
โดยไม่นำผลงานของผู้อื่นมาอ้างว่าเป็นของตน
ข้อ
2.
นักวิจัยต้องตระหนักถึงพันธกรณีในการทำวิจัย
ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยและต่อหน่วยงานที่ตนสังกัด
นักวิจัยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อตกลงการวิจัยที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับ
ร่วมกัน อุทิศเวลาทำงานวิจัยให้ได้ผลดีที่สุดและเป็นไปตามกำหนดเวลา
มีความรับผิดชอบไม่ละทิ้งงานระหว่างดำเนินการ
แนวทางปฏิบัติ
2.1 นักวิจัยต้องตระหนักถึงพันธกรณีในการทำวิจัย
นักวิจัยต้องศึกษาเงื่อนไข
และกฎเกณฑ์ของเจ้าของทุนอย่างละเอียดรอบคอบ
เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง
นักวิจัยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข
ระเบียบและกฎเกณฑ์ตามข้อตกลงอย่างครบถ้วน
2.2 นักวิจัยต้องอุทิศเวลาทำงานวิจัย
นักวิจัยต้องทุ่มเทความรู้
ความสามารถและเวลาให้กับการทำงานวิจัย
เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์
2.3 นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบในการทำวิจัย
นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบ
ไม่ละทิ้งงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และส่งงานตามกำหนดเวลา
ไม่ทำผิดสัญญาข้อตกลงจนก่อให้เกิดความเสียหาย
นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบในการจัดทำรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์
เพื่อให้ผลอันเกิดจากการวิจัยได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ข้อ
3.
นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัย
นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัยอย่างเพียงพอและมีความรู้ความชำนาญหรือมีประสบการณ์
เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ทำวิจัย เพื่อนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพ
และเพื่อป้องกันปัญหาการวิเคราะห์ การตีความ หรือการสรุปที่ผิดพลาด
อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่องานวิจัย
แนวทางปฏิบัติ
3.1 นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้
ความชำนาญหรือประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่ทำวิจัยอย่างเพียงพอเพื่อนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพ
3.2
นักวิจัยต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพของงานวิจัยในสาขาวิชาการนั้นๆ
เพื่อป้องกันความเสียหายต่อวงการวิชาการ
ข้อ
4.
นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
นักวิจัยต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง
และเที่ยงตรงในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช ศิลปวัฒนธรรม
ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึกและมีปณิธานที่จะอนุรักษ์
ศิลปวัฒนธรรมทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
แนวทางปฏิบัติ
4.1 การใช้คนหรือสัตว์เป็นตัวอย่างทดลอง
ต้องทำในกรณีที่ไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น
4.2
นักวิจัยต้องดำเนินการวิจัยโดยมีจิตสำนึกที่จะไม่ก่อความเสียหายต่อคน
สัตว์ พืช ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม
4.3
นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดแก่ตนเอง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาและสังคม
ข้อ
5.
นักวิจัยต้องเคารพศักดิ์ศรี
และสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัย
นักวิจัยต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลย
และขาดความเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ต้องถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะอธิบาย
จุดมุ่งหมายของการวิจัยแก่บุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง
โดยไม่หลอกลวงหรือบีบบังคับ และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
แนวทางปฏิบัติ
5.1
นักวิจัยต้องมีความเคารพในสิทธิของมนุษย์ที่ใช้ในการทดลองโดยต้องได้รับความยินยอมก่อนทำการวิจัย
5.2
นักวิจัยต้องปฏิบัติต่อมนุษย์และสัตว์ที่ใช้ในการทดลองด้วยความเมตตา
ไม่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ทางวิชาการจนเกิดความเสียหายที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง
5.3
นักวิจัยต้องดูแลปกป้องสิทธิประโยชน์และรักษาความลับของกลุ่ม
ตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง
ข้อ
6.
นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด
โดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย
นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด ต้องตระหนักว่า
อคติส่วนตนหรือความลำเอียงทางวิชาการ
อาจส่งผลให้มีการบิดเบือนข้อมูลและข้อค้นพบทางวิชาการ
อันเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายต่องานวิจัย
แนวทางปฏิบัติ
6.1 นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด
ไม่ทำงานวิจัยด้วยความเกรงใจ
6.2
นักวิจัยต้องปฏิบัติงานวิจัยโดยใช้หลักวิชาการเป็นเกณฑ์และไม่มีอคติมาเกี่ยวข้อง
6.3 นักวิจัยต้องเสนอผลงานวิจัยตามความเป็นจริง
ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการวิจัย โดยหวังประโยชน์ส่วนตน
หรือต้องการสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น
ข้อ
7.
นักวิจัยพึงนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ
นักวิจัยพึงเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและสังคมไม่ขยายผลข้อค้นพบจนเกินความเป็นจริง
และไม่ใช้ผลงานวิจัยไปในทางมิชอบ
แนวทางปฏิบัติ
7.1
นักวิจัยพึงมีความรับผิดชอบและรอบคอบในการเผยแพร่ผลงานวิจัย
7.2
นักวิจัยพึงเผยแพร่ผลงานวิจัยโดยคำนึงถึงประโยชน์ทางวิชาการ และสังคม
ไม่เผยแพร่ผลงานวิจัยเกินความเป็นจริง
โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง
7.3 นักวิจัยพึงเสนอผลงานวิจัยตามความเป็นจริง
ไม่ขยายผลข้อค้นพบโดยปราศจากการตรวจสอบ ยืนยันในทางวิชาการ
ข้อ
8.
นักวิจัยพึงเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น
นักวิจัยพึงมีใจกว้าง
พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลและขั้นตอนการวิจัยยอมรับฟังความคิดเห็นและเหตุผลทางวิชาการของผู้อื่น
และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขงานวิจัยของตนให้ถูกต้อง
แนวทางปฏิบัติ
8.1 นักวิจัยพึงมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
ยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
และสร้างความเข้าใจในงานวิจัยกับเพื่อนร่วมงานและนักวิชาการอื่นๆ
8.2 นักวิจัยพึงยอมรับฟัง
แก้ไขการทำวิจัยและการเสนอผลงานวิจัยตามข้อแนะนำที่ดี
เพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้องและสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้
ข้อ
9.
นักวิจัยพึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมทุกระดับ
นักวิจัยพึงมีจิตสำนึกที่จะอุทิศกำลังสติปัญญาในการทำวิจัย
เพื่อความก้าวหน้าทาง
วิชาการเพื่อความเจริญและประโยชน์สุขของสังคมและมวลมนุษย์ชาติ
แนวทางปฏิบัติ
9.1
นักวิจัยพึงไตร่ตรองหาหัวข้อการวิจัยด้วยความรอบคอบและทำการวิจัยด้วยจิตสำนึกที่จะอุทิศกำลังปัญญาของตน
เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ
เพื่อความเจริญของสถาบันและประโยชน์สุขต่อสังคม
9.2
นักวิจัยพึงรับผิดชอบในการสร้างสรรค์ผลงานวิชาการเพื่อความเจริญของสังคม
ไม่ทำการวิจัยที่ขัดกับกฎหมาย
ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
9.3
นักวิจัยพึงพัฒนาบทบาทของตนให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น และอุทิศเวลา น้ำใจ
กระทำการส่งเสริมพัฒนาความรู้ จิตใจ
พฤติกรรมของนักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีส่วนสร้างสรรค์ความรู้แก่สังคมสืบไป
|