English

Map

Link

Service

Web Board

E-Mail

Change Password

   

 


 

 

   
 

ปีงบประมาณ 2535

 

ชื่อโครงการ             นโยบายต่างประเทศของจีนต่อประเทศอาเซียน : กลุ่มประเทศอินโดจีน

ผู้ทำวิจัย                 รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย  ศิริไกร

จำนวนหน้า             80  หน้า

 

บทคัดย่อภาษาไทย

 

          ประเทศจีนภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง ได้ปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนจากปลายปี ค.. 1978 ถึงปัจจุบันเป็นเวลารวม 16 ปี ยังผลให้เศรษฐกิจของจีนเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งมีกา รคาดการณ์ว่าจีนจะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในต้นศตวรรษหน้า    ดังนั้น ความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนโดยนโยบายของ เติ้ง เสี่ยวผิง ครั้งนี้กล่าวได้ว่ามีความสำคัญเท่ากับเป็น"การปฏิวัติครั้งที่สอง" ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวคือ การปฏิวัติครั้งที่หนึ่ง ในปี ค.. 1949 เป็นการปฏิวัติของท่านประธานเหมา เจ๋อตุง เป็นการปฏิวัติทางการเมือง แต่การปฏิวัติครั้งที่สองของเติ้ง เสี่ยวผิง ในปี ค.. 1978  เป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ การปฏิวัติทั้งสองครั้งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของจีนอย่างมากมายและมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคนในประเทศ

          เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ริเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยศึกษาบทเรียนความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดไกล และการปฏิวัติวัฒนธรรมของฝ่ายซ้าย   ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายปฏิรูปก่อนประเทศสหภาพโซเวียตและประเทศสังคมนิยมอื่นๆ  ในยุโรปตะวันออก  ลักษณะเด่นของการปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้ง เสี่ยวผิง คือ การใช้แรงจูงใจแก่เกษตรและชาวนาในชนบท    การทดลองใช้กลไกการตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไปและการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการลงทุนของต่างชาติ  ที่สำคัญคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงรักษาอำนาจควบคุมทางการเมืองอยู่ในมืออย่างเหนียวแน่น เพื่อที่จะควบคุมนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ให้อยู่ในทิศทางที่รัฐบาลต้องการได้

          การดำเนินนโยบายดังกล่าวข้างต้นนี้  ถ้าพิจารณาโดยผิวเผินอาจคิดว่าเป็นเรื่องไม่ยุ่งยาก แต่ในสภาพความเป็นจริง เติ้ง เสี่ยวผิง และคณะผู้สนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจของเขาต้องประสบปัญหาต่างๆ นานัปการในการที่จะผลักดันนโยบายต่างๆ ออกมาได้ หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 8 บท ใน 3 บทแรกได้แสดงให้เห็นแนวความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนภายหลังการปฏิวัติ  ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรก่อนที่เติ้ง เสี่ยวผิงจะเสนอแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจของเขาให้เป็นที่ยอมรับของสมาชิกพรรคได้สำเร็จ   ได้อธิบายความหมายและ เป้าหมายของพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายสี่ทันสมัย     และการดำเนินนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาสี่ทันสมัย  ใน  4  บทหลังได้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกั บประเทศอาเซียนทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร และเป้าหมายการดำเนินนโยบายต่างประเทศระยะยาวของจีนต่ออาเซียน และวิกฤติการณ์เทียนอันเหมิน จากการศึกษาวิจัยจนกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ผู้วิจัยได้พบว่า เติ้ง เสี่ยวผิง และกลุ่มผู้นำจีนที่สนับสนุนการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจของเขามีเป้าหมายที่แน่วแน่และสำคัญยิ่งยวดคือ   การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายสี่ทันสมัย เพื่อให้จีนเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการป้องกันประเทศ ทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ ให้ได้ภายในระยะเวลา 30-50 ปีข้างหน้านโยบายการเมืองและต่างประเทศอื่นๆ  มีความสำคัญรองลงมา ดังนั้น เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนจึงเป็นนโยบายหลักที่เป็นปัจจัยกำหนดนโยบายอื่นๆ    ให้ต้องปรับปรุงเพื่อตอบสนองเป้าหมายเศรษฐกิจของจีนให้ สำเร็จลุล่วง ดังนั้น ผู้นำจีนจึงต้องการรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ดีกับประเทศอาเซียน และกับประเทศต่างๆ   ทั่วโลกให้ดีและมั่นคงที่สุดเท่าที่จะทำได้  แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบต่ออำนาจอธิปไตย หรือผลประโยชน์ร้ายแรงอื่นๆ ของจีน เช่น ปัญหาชนกลุ่มน้อยในประเทศ ปัญหาพรมแดนและปัญหาเกาะไต้หวัน เป็นต้น ผู้นำจีนได้แก้ไขปัญหาหลายประการที่เคยเป็นอุปสรรคในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างจีนกับอาเซียนมาช้านาน  เช่นเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ  ในอาเซียน  ปัญหาชาวจีนในโพ้นทะเล และปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

          แต่อย่างไรก็ตาม  การที่จีนเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย  ประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคนี้ย่อมมีความหวาดระแวงจีนอยู่เสมอ  ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่กับประเทศที่เล็กกว่า  ประเทศเล็กๆ  ในเอเชียตะหวาดกลัวจีนเสมอมา นับตั้งแต่สมัยอดีตที่จีนเคยเจริญรุ่งเรือง และเป็นศูนย์วัฒนธรรมของเอเชียจนถึงสมัยที่จีนอ่อนแอและแตกแยกกัน  ในปัจจุบันจีนกำลังพัฒนาเป็นชาติที่เจริญเข้มแข็งใหม่ ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารอีกครั้งหนึ่ง   ประเทศเล็กก็ยังคงมีความหวาดระแวงเหมือนเดิม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะปัจจุบันเติ้ง  เสี่ยวผิง รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่แต่ร่างเล็กของจีนได้มีอายุครบ 90 ปี ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  นักวิเคราะห์การเมืองจีนทั่วโลกกำลังเฝ้าดูว่าผู้บริหารจีนในปัจจุบันซึ่งกุมอำนาจการเมืองโดยการสนับสนุนของเติ้ง  เสี่ยวผิง  จะสามารถบริหารประเทศต่อไปโดยราบรื่น โดยปราศจากการชี้นำและบารมีของเติ้งเสี่ยวผิง ได้หรือไม่ สิ่งเดียวที่เติ้ง เสี่ยวผิง ยังไม่ได้ปฏิรูปให้เข้ารูปเข้ารอยในเมืองจีนคือ การปฏิรูปการเมืองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดระบบการสืบทอดอำนาจของผู้นำประเทศ แต่ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ในกรอบของการศึกษาในหนังสือเล่มนี้

          ผู้เขียนขอขอบคุณโครงการจีนศึกษาที่สนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้และขอขอบคุณรองศาสตาจารย์ ดร.จุลชีพ  ชินวรรโณ ที่ได้กรุณาช่วยวิจารณ์งานวิจัยที่เป็นต้นฉบับ แต่ถ้ายังมีความผิดพลาดใดๆ หลงเหลืออยู่ ผู้เขียนขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว

 

 

                                 

 

หน่วยบริการวิจัย  สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 99 หมู่ 18 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12121

โทร. 0-2564-5000-3 โทรสาร 0-25645-4888 E-mail:ieas@asia.tu.ac.th