English

Map

Link

Service

Web Board

E-Mail

Change Password

   

 


 

 

   
 

ปีงบประมาณ 2529

 

ชื่อโครงการวิจัย                        ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น : ด้านการเมือง

ผู้ทำวิจัย                                    รศ.ประเสริฐ  จิตติวัฒนพงศ์

จำนวนหน้า                                84    หน้า

 

บทคัดย่อภาษาไทย

 

          การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน เป็นการวิจัยประเภทหนึ่ง นอกเหนือไปจากการวิจัยเพื่อค้นหาความรู้ใหม่  หรือการวิจัยประยุกต์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมบ้านเมืองที่เรารู้จักกันดี  การวิจัยพัฒนาการเรียนการสอนมุ่งที่จะปรับปรุงคุณภาพการสอนของผู้สอน   และกระบวนการเรียนการสอนระหว่างอาจารย์และนักศึกษา จึงเป็นการวิจัยในเรื่องที่ใกล้ตัวซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยโดยตรง ความรอบรู้เชี่ยวชาญในวิชานั้น จริงอยู่เป็นเครื่องชี้ขาดที่สำคัญของคุณภาพการสอน แต่ถ้าความรอบรู้เชี่ยวชาญนั้นไม่สามารถสื่อสารกับผู้เรียน และขาดความชัดเจนในเรื่องต่างๆ ของกระบวนการเรียนการสอนแล้ว ประโยชน์ต่อนักศึกษาก็อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ในปัจจุบันการวิจัยพัฒนาการเรียนการสอนนี้ได้รับการส่งเสริมจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพื่อแข่งขันกันด้าน "ความเป็นเลิศทางวิชาการ"

          ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    มีวิชาเกี่ยวกับญี่ปุ่นเปิดสอนอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขณะนี้หลายวิชาบางวิชาก็กล่าวถึงญี่ปุ่นประเทศเดียวอย่างชัดแจ้ง  บางวิชาก็กล่าวถึงญี่ปุ่นรวมๆ ไปในวิชาที่ครอบคลุมกว้างออกไป  เช่น  เอเชียตะวันออก หรือเอเชีย ขณะเดียวกันในระยะ 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากในหมู่นักวิชาการและประชาชนทั่วไป ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์  การพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง  การบริหาร ระบบสื่อมวลชน ชีวิตด้านวรรณกรรม ภาพยนตร์ และอื่นๆ อีกทั้งนักศึกษาก็มีความสนใจอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่นมากไม่น้อยกว่าเรื่องของโลกตะวันตก

          ภายใต้สภาพดังกล่าว  โครงการวิจัยการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาเกี่ยวกับญี่ปุ่นจึงก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยครอบคลุมวิชาต่างๆ 9 วิชา คือ ภาษาญี่ปุ่น วรรณคดีญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น การพัฒนาประเทศญี่ปุ่น การเมืองการปกครองญี่ปุ่น เศรษฐกิจญี่ปุ่น สื่อสารมวลชนญี่ปุ่น การบริหารญี่ปุ่น และสังคมญี่ปุ่น ผู้ทำวิจัยได้แก่ อาจารย์ผู้สอนวิชาอยู่ในขณะนั้น รวม 9 ท่านตามลำดับ คือ อาจารย์ผกาทิพย์ สกุลครู   อาทร  ฟุ้งธรรมสาร  พรรณี  ฉัตรพลรักษ์   ลิขิต ธีระเวคิน   ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์   อนงค์ โรจน์วณิชย์   อรทัย ศรีสันติสุข  ไว  จามรมาน  และยุพา             คลังสุวรรณ ในระหว่างดำเนินการศึกษาวิจัย อาจารย์ผกาทิพย์ สกุลครู เดินทางไปต่างประเทศ จึงเหลืออาจารย์ผู้ร่วมโครงการ 8 ท่าน

          คณะผู้ร่วมโครงการได้พิจารณาถึงรูปแบบการนำเสนอปัญหา และในที่สุดได้กำหนดรูปแบบร่วมกว้างๆ ดังนี้ คือ จะพิจารณาประเด็นต่างๆ รวม 7 ประเด็น ได้แก่ วัตถุประสงค์ของวิชา หัวข้อบรรยาย ตำรา หนังสือหรือบทความอ่านประกอบ  วิธีการสอน การประเมินผล และปัญหาอื่นๆ โดยจะเริ่มด้วยคำขึ้นต้น ซึ่งจะกล่าวถึงสถานภาพ ภูมิหลัง และข้อมูลทั่วไป เกี่ยวกับวิชานั้นๆ ผู้ทำวิจัยแต่ละคนจะพิจารณาเสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้ง 7 เหล่านี้ ในแง่ของสภาพที่เป็นอยู่ เหตุผลรองรับ ข้อวิจารณ์หรือข้อสังเกต และข้อแนะนำเสนอแนะ เท่าที่แต่ละประเด็นจะเอื้ออำนวย ในกระบวนการศึกษาวิจัย คณะผู้เข้าร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น  ข้อติชม  และซักถามระหว่างกัน  โดยมี Workshop รวม 10 ครั้ง การที่มีรูปแบบการวิจัยร่วมกันช่วยให้การตั้งคำถาม และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในระหว่าง Workshop ทั้ง 10 ครั้ง เป็นไปได้ง่ายขึ้นและเป็นประโยชน์ ในครั้งสุดท้าย ได้เชิญอาจารย์ผู้สอนวิชาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ มาให้ข้อคิดเห็น     รวมทั้งกล่าวถึงกรณีการเรียนการสอนที่ตนดูแลอยู่ในสถาบันของตนเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กล่าวได้ว่าผู้ทำวิจัยได้ประโยชน์จาก Workshop เหล่านี้เป็นอย่างมาก นำไปสู่การปรับปรุงข้อเขียนของตน

          การวิจัยเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน เป็นการวิจัยเพื่อการทำหน้าที่ในฐานะ "ครู" ของผู้สอนและหน้าที่ในฐานะแหล่ง "ผลิตบัณฑิต" ของมหาวิทยาลัยโดยตรง แม้จะมีข้อทักท้วงว่า ความรอบรู้เชี่ยวชาญหรือ "รู้จริงในวิชานั้นๆ  ต่างหากที่จะมาก่อน  การวิจัยด้านนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์แต่อย่างใด  ในทางตรงกันข้ามจำเป็นที่จะต้องทำควบคู่ไปกับการแสวงหาความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างจะขาดเสียมิได้     และโครงการวิจัยที่พยายามรวมกลุ่มวิชา ซึ่งในกรณีนี้รวมกลุ่มในลักษณะประเทศยิ่งกว่าสาขาวิชา ย่อมมีประโยชน์ในการมองปัญหาเดียวกัน  จากแต่ละแง่มุมและจากแต่ละประสบการณ์  การซักถาม   ติชม   และปะทะสังสรรค์ระหว่างกัน  ในช่วง  Workshop รวม 10 ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่ยังประโยชน์แก่ผู้สอน นำไปสู่การปรับปรุงการทำหน้าที่  "ครู ของตนให้ถึงซึ่งความพร้อม อย่างไรก็ตาม การวิจัยที่ดึงคนเข้ามาร่วมมากความคิดเห็นก็

หลากหลายมาก มติร่วมจะบรรลุได้ก็โดยลำบาก ยิ่งเมื่อธรรมชาติของแต่ละวิชาแตกต่างกันไปตามสาขาชำนัญและลักษณะของวิชา  การประสานรูปแบบการนำเสนอจึงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย  แต่จากที่ปรากฎในเอกสารศึกษาวิจัยทั้งหมดน่าจะถือได้ว่าบรรลุความสำเร็จในระดับหนึ่ง  โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่านี่เป็นโครงการวิจัยกลุ่มวิชา  ในลักษณะ inter-disciplinary ที่นำนักวิชาการที่ชำนัญเฉพาะในสาขาวิชาต่างๆ กันเกือบ 10 สาขาวิชา มาพิจารณาปัญหาเดียวกันร่วมกัน เป็นครั้งแรก และเมื่อมีคำถามว่าวิชาเกี่ยวกับญี่ปุ่นสอนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สอนกันอย่างใด เอกสารการวิจัยนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ

 

 

                                 

 

หน่วยบริการวิจัย  สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 99 หมู่ 18 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12121

โทร. 0-2564-5000-3 โทรสาร 0-25645-4888 E-mail:ieas@asia.tu.ac.th