บทคัดย่อโครงการวิจัยด้านเอเชียตะวันออกศึกษา
(งบประมาณแผ่นดิน)
ปีงบประมาณ
2528
ชื่อโครงการวิจัย
พัฒนาการญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย ค.ศ.
1981-1984
ผู้ทำวิจัย
ผศ.บัญญัติ
สุรการวิทย์
จำนวนหน้า
150 หน้า
บทคัดย่อภาษาไทย
ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเด่นชัด
จนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน
ความสำเร็จของญี่ปุ่นนี้อาจจะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ
ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นเองก็ประสบปัญหาต่างๆ เกิดตามมากับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และก็มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย
ดังนั้น
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับญี่ปุ่นอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง
จึงเป็นสิ่งจำเป็น
และมีความสำคัญต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะว่าญี่ปุ่นและไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
และไทยก็พึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อญี่ปุ่นอยู่มากด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม
ต่อปัญหาเรื่องการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับญี่ปุ่นนั้น
เราคงจะต้องมีการสำรวจตัวเองว่า
สถานะภาพของญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา และที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร พรมแดนแห่งความรู้ของญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทยได้มีการพัฒนาขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง
ทั้งในด้านปริมาณและในด้านคุณภาพอย่างไรบ้าง และปัญหาแนวโน้มต่างๆ
ในอนาคตจะเป็นเช่นไร
การสำรวจตัวเองในความรู้ที่มีอยู่เกี่ยวกับญี่ปุ่นนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียมิได้
ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะกำหนดแนวทางและนโยบายในการศึกษาเกี่ยวกับญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต
และถ้าหากว่าเราต้องการที่จะพัฒนาญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทยให้เป็นประโยชน์ทั้งในด้านความรู้ทางวิชาการ
และการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงในการพัฒนาประเทศ
ตลอดจนทั้งการปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและไทยให้มีความสมดุลย์
และมีลักษณะเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างแท้จริงมากขึ้นนั้น
เราก็จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบรอบด้านและลึกซึ้งมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โครงการวิจัยเรื่อง
"พัฒนาการของญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย
ค.ศ. 1981-1984"
ซึ่งเป็นรายงานผลการศึกษาเกี่ยวสถานะภาพของญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทยใน
5 สาขา คือเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคม-วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสาขาวรรณกรรรมนี้
เป็นการสำรวจและการประเมินสถานะภาพของสาขาวิชาดังกล่าวในด้านหลักสูตรการเรียนการสอน
ผลงานทางด้านวิชาการ และกึ่งวิชาการที่ปรากฎในงานวิจัยและสิ่งตีพิมพ์รูปแบบต่างๆ
ตลอดจนทั้งแนวโน้มในอนาคตของกิจกรรมของแต่ละสาขาวิชาเป็นสำคัญ
สำหรับสาขาวิชาอื่นๆ
นอกเหนือไปจาก 5 สาขา
ดังกล่าวข้างต้นนั้น
เป็นที่คาดหวังว่าคงจะมีการศึกษาเพิ่มเติมไปในอนาคตอันใกล้นี้
ส่วนระยะเวลาของการศึกษาที่เราได้กำหนดเอาช่วงปี ค.ศ.
1981-1984 นั้นก็ด้วยเหตุผลว่า
ก่อนหน้านี้ได้มีโครงการวิจัยในลักษณะเดียวกันเกี่ยวกับเรื่อง
สิ่งตีพิมพ์ที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย
ซึ่งครอบคลุมถึงปี ค.ศ.
1980 อยู่แล้วนั้นเอง (ผศ.สีดา
สอนศรี "บรรณานิทัศน์สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับญี่ปุ่นที่เขียนและเรื่องพิมพ์ในประเทศไทย
(พ.ศ.
2524-2526)" ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิญี่ปุ่น)
ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่า
โครงการวิจัยนี้เป็นการสานต่อโครงการสำรวจสิ่งตีพิมพ์เกี่ยวกับญี่ปุ่นที่เขียนและหรือพิมพ์ในประเทศไทยของอาจารย์สีดา
สอนศรี โดยที่ในครั้งนี้ได้เน้นเฉพาะใน 5
สาขาวิชา และได้มีการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ในด้านหลักสูตรการเรียนการสอน
ตลอดจนทั้งปัญหาการมองญี่ปุ่นของคนไทย และแนวโน้มต่างๆ ในอนาคต
ซึ่งคณะผู้วิจัยได้พยายามประเมินอย่างรอบด้านที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม
ในระหว่างการวิจัย
และการเขียนรายงานผลวิจัยดังกล่าวนี้
คณะผู้วิจัยได้มีการแบ่งงานกันตามสาขาวิชาที่ผู้วิจัยแต่ละคนมีความถนัดและมีความสนใจในสาขาวิชานั้นๆ
ดังนั้น
เนื้อหาของแต่ละสาขาวิชาจึงจะมีความหลากหลายทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหารายละเอียดบ้างพอสมควร
แต่ก็เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า ภายใต้ขอบเขตจำกัดเรื่อง
ระยะเวลา
และเงินทุนอุดหนุนการวิจัยครั้งนี้
คณะผู้วิจัยได้พยามอย่างเด่นชัดในการสรุปภาพรวมของแต่ละสาขาวิชา
และได้มีการวิเคราะห์ปัญหาตลอดจนทั้งแนวโน้มในอนาคต
ซึ่งคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ทางด้านญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทยต่อไปในภายหน้า
จากการวิจัยในครั้งนี้
คณะผู้วิจัยยังได้ตระหนักดีกว่าสำรวจสถานะภาพของการศึกษาภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทย
และการประเมินผลการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นอย่างรอบด้านนั้น
เป็นโครงการที่สำคัญและมีผลต่อญี่ปุ่นศึกษาโดยส่วนรวมด้วย ดังนั้น
จึงเป็นที่คาดหวังว่าคงจะมีการวิจัยในเรื่องการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทยและผลกระทบต่างๆ
ต่อไปในไม่ช้านี้
และถ้าเป็นไปได้ก็อยากที่จะได้เห็นผลงานวิจัยในสาขาวิชาด้านอื่นๆ
นอกเหนือไปจาก 5
สาขาวิชาดังกล่าวข้างต้นต่อไปในอนาคต
โครงการวิจัยเรื่อง
"พัฒนาการของญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย
ค.ศ. 1981-1984"
นี้คงจะไม่ปรากฎผลออกมาเป็นรูปเล่มรายงานวิจัยที่สมบูรณ์ได้
ถ้าปราศจากความร่วมมือเป็นอย่างดีเลิศจากคณะผู้วิจัยและเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย
|