|
ข้อบังคับ ก.พ.
ว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือน
พ.ศ. 2537
โดยที่ข้าราชการพลเรือนมีหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญในการพัฒนาประเทศรวมทั้งการให้บริการแก่ประชาชน
ซึ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ฉะนั้น
เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนมีความประพฤติดี สำนึกในหน้าที่
สามารถประสานงานกับทุกฝ่ายตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงสมควรให้มีข้อบังคับ ก.พ.
ว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือนไว้เป็นประมวลความประพฤติเพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและส่งเสริมชื่อเสียง
เกียรติคุณ เกียรติฐานะ ของข้าราชการพลเรือน
อันจะยังผลให้ผู้ประพฤติเป็นที่เลื่อมใส ศรัทธาและยกย่องของบุคคลโดยทั่วไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (5) และมาตรา 91
แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 จึงออกข้อบังคับ ก.พ.
ว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือนไว้ ดังต่อไปนี้
จรรยาบรรณต่อตนเอง
ข้อ 1
ข้าราชการพลเรือนพึงเป็นผู้มีศีลธรรมอันดี
และประพฤติตนให้เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ
ข้อ 2
ข้าราชการพลเรือนพึงใช้วิชาชีพในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์
และไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ในกรณีที่วิชาชีพใดมีจรรยาวิชาชีพกำหนดไว้
ก็พึงปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพนั้นด้วย ข้อ 3
ข้าราชการพลเรือนพึงมีทัศนคติที่ดี และพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรม จริยธรรม
รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และทักษะ
ในการทำงานเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการมีประสิทธิภาพ
ประสิทธิผลยิ่งขึ้น
จรรยาบรรณต่อหน่วยงาน
ข้อ 4
ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความสุจริต
เสมอภาคและปราศจากอคติ
ข้อ 5
ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ รอบคอบ
รวดเร็ว ขยันหมั่นเพียร ถูกต้องสมเหตุสมผล
โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและประชาชนเป็นสำคัญ
ข้อ 6
ข้าราชการพลเรือนพึงประพฤติคนเป็นผู้ตรงต่อเวลา
และใช้เวลาราชการให้เป็นประโยชน์ต่อทางราชการอย่างเต็มที่
ข้อ 7
ข้าราชการพลเรือนพึงดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด
คุ้มค่า
โดยระมัดระวังมิให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองเยี่ยงวิญญูชนจะพึงปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนเอง
จรรยาบรรณต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และผู้ร่วมงาน
ข้อ 8
ข้าราชการพลเรือนพึงมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน
การให้ความร่วมมือช่วยเหลือกลุ่มงานของตนทั้งในด้านการให้ความคิดเห็น
การช่วยทำงาน และการแก้ปัญหาร่วมกัน
รวมทั้งการเสนอแนะในสิ่งที่เห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนางานในความรับผิดชอบด้วย
ข้อ 9
ข้าราชการพลเรือนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา
พึงดูแลเอาใจใส่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งในด้านการปฏิบัติงาน ขวัญ กำลังใจ
สวัสดิการ และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
ตลอดจนปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาด้วยหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ข้อ 10
ข้าราชการพลเรือนพึงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางที่ชอบ
รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความสามัคคี
ร่วมแรงร่วมใจในบรรดาผู้ร่วมงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ข้อ 11
ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้วยความสุภาพ
มีน้ำใจ และมนุษยสัมพันธ์
ข้อ 12
ข้าราชการพลเรือนพึงละเว้นจากการนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน
จรรยาบรรณต่อประชาชนและสังคม
ข้อ 13
ข้าราชการพลเรือนพึงให้บริการประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความเป็นธรรม
เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และใช้กิริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยน
เมื่อเห็นว่าเรื่องใดไม่สามารถปฏิบัติได้หรือไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนจะต้องปฏิบัติ
ควรชี้แจงเหตุผลหรือแนะนำให้ติดต่อยังหน่วยงานหรือบุคคลซึ่งตนทราบว่ามีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น
ๆ ต่อไป
ข้อ 14
ข้าราชการพลเรือนพึงประพฤติตนให้เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป
ข้อ 15
ข้าราชการพลเรือนถึงละเว้นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด
ซึ่งมีมูลค่าเกินปกติวิสัยที่วิญญูชนจะให้กันโดยเสน่หาจากผู้มาติดต่อราชการ
หรือผู้ซึ่งอาจได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้น
หากได้รับไว้แล้วและทราบภายหลังว่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่รับไว้มีมูลค่าเกินปกติวิสัย
ก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการตามสมควรแก่กรณี
ข้อ 16
ข้อบังคับฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ให้ไว้ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
(ลงชื่อ) ชวน หลีกภัย
(นายชวน หลีกภัย)
หมายเหตุ
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไปเล่ม 111 ตอนที่ 19 ง ลงวันที่ 8
มีนาคม 2537
|
|