English

Map

Link

Service

Web board

E-Mail

Change Password

  

     

 

 

การชุมนุมประท้วงในพม่า

                 ที่มาและสถานการ์การชุมนุมประท้วง

                การชุมนุมประท้วงในพม่า มีจุดเริ่มต้นมาจากรัฐบาลประกาศปรับราคาเชื้อเพลิงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550  โดยราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นร้อยละ 100 หรือ 1 เท่าตัว  และราคาก๊าซปรับตัวขึ้นร้อยละ 500 หรือ 5 เท่าตัว การดำเนินการดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เนื่องจากทำให้อัตราค่าโดยสารและสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มสูงขึ้น  จากการประมาณการนั้นพบว่าประชากรถึงร้อยละ 90 ของประชากรพม่า 50 ล้านคน ดำเนินชีวิตอยู่ใต้หรือใกล้เส้นความยากจน (poverty line) กล่าวคือ มีรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 1 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2000

ความไม่พอใจอันเกิดจากการปรับราคาน้ำมัน ได้นำไปสู่การชุมนุมประท้วง ซึ่งเริ่มในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ในกรุงย่างกุ้ง (Yangon)  ด้วยข้อเรียกร้องให้มีการลดราคาน้ำมัน ซึ่งต่อมาในวันที่ 22 สิงหาคม  การชุมนุมประท้วงได้เริ่มต้นขึ้นอีก โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมสูงมาก ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์แรกในรอบทศวรรษนับตั้งแต่คณะทหารพม่าปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2531  การชุมนุมในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยจัดตั้งของรัฐบาลได้ขัดขวางการชุมนุม โดยมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2531 และไล่ล่าบุคคลดังกล่าว โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมประท้วง

การจับกุมและขัดขวางผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างสงบ ได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์และการเรียกร้องจากนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (European Union – EU) ให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวบุคคลที่ถูกจับกุม และยุติการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบ เพราะการกระทำดังกล่าวขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน 

นอกจากนี้ การใช้มาตรการรุนแรงของรัฐบาลได้เป็นผลให้เกิดความเคลื่อนไหวในหมู่พระสงฆ์ โดยพระสงฆ์เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน โดยพระสงฆ์ได้ออกมาชุมนุมครั้งแรกที่ปะโคกู (Pakkhoku) ในมณฑลมะเกว (Magway Division) เมื่อวันที่ 9 กันยายน และหลังจากนั้นการชุมนุมได้เกิดขึ้นในอีกหลายเมือง แต่การชุมนุมที่ปะโคกู เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของพม่าได้ทำร้ายพระสงฆ์ ส่วนฝ่ายพระสงฆ์ได้จับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นตัวประกัน แต่ได้ปล่อยตัวในเวลาต่อมา พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลขอโทษต่อการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม มิเช่นนั้นจะไม่ปฏิบัติศาสนกิจที่เกี่ยวข้องกับคณะทหาร แต่ข้อเรียกร้องนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง

ถัดจากนั้นมา การชุมนุมที่มีพระสงฆ์เป็นแกนนำได้เกิดขึ้นทั้งที่ย่างกุ้งและอีกหลายเมือง และจำนวนผู้ชุมนุมได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนเป็นต้นมา ซึ่งพระสงฆ์ได้มีการรวมตัวในนามขบวนพระสงฆ์แห่งชาติ (National Front of Monks) และได้เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลขอโทษต่อการใช้ความรุนแรง ลดราคาน้ำมันและเปิดการเจรจากับกลุ่มที่คัดค้านรัฐบาล อันได้แก่ สันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) และขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา (The 88 Generation Students Movement) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2531

นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนเป็นต้นมา รัฐบาลพม่าได้ตระหนักถึงความยากลำบากในการคุมสถานการณ์ เพราะจำนวนผู้ชุมนุมได้เพิ่มขึ้นตลอด และในที่สุดก็ได้ใช้มาตรการแข็งกร้าวในการสลายการชุมนุม ซึ่งเป็นผลให้ผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงเสียชีวิต

จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รัฐบาลพม่าซึ่งนำโดยคณะทหารต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอก

แรงกดดันจากภายใน

1. ความไม่พอใจของประชาชน อันเนื่องมาจากภาวะความบีบคั้นในการดำเนินชีวิต ซึ่งเกิดจากการปรับตัวของราคาน้ำมันที่กระทำอย่างฉับพลัน จึงทำให้ประชาชนประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต

2. ข้อเรียกร้องให้มีการพัฒนาประชาธิปไตย นับถึงปัจจุบันเป็นระยะ 14 ปี ที่มีการประชุมสมัชชาแห่งชาติ (National Convention) เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ และถึงแม้จะได้ปิดการประชุมเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยว่า สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีลักษณะเป็นอย่างไร และการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นเมื่อไร ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเกิดการชุมนุมต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมัน ประเด็นการเรียกร้องทางด้านการเมืองจึงได้เกิดขึ้นตามมา

3. ปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงต่อพระสงฆ์ เพราะชาวพม่าจะนับถือพระสงฆ์อย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้ พระสงฆ์ยังมีการจัดองค์กรที่ดี ซึ่งจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2531 พระสงฆ์ได้มีบทบาทสำคัญเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักศึกษา

แรงกดดันจากภายนอก

1. การเรียกร้องจากนานาชาติให้รัฐบาลพม่าเปิดการเจรจากับฝ่ายค้าน เคารพในสิทธิมนุษยชน ยุติการจับกุมคุมขังทางการเมือง และปล่อยตัวนางออง ซาน ซูคยี (Aung San Suu Kyi)   

2. การคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นผลให้พม่าถูกตัดสิทธิพิเศษในการส่งสินค้าไปยังตลาดดังกล่าว รวมทั้งประเทศดังกล่าวยุติการค้าอาวุธกับทางรัฐบาลพม่า และจากเหตุการณ์รุนแรงครั้งหลังสุด ประธานาธิบดีบุช (George W. Bush) ประกาศที่จะใช้มาตรการเข้มงวดต่อผู้นำพม่า อาทิเช่น การเข้มงวดในการให้วีซ่า เป็นต้น

สำหรับประเทศที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพม่า ได้แก่

1. จีน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาพยายามนำปัญหาพม่าเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลพม่า แต่ถูกจีนและรัสเซียใช้สิทธิยับยั้ง ดังนั้น พม่าจึงมีจีนเป็นเกราะกำบังในเวทีระหว่างประเทศ พม่าสามารถซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ทางทหารจากจีน จีนได้ประโยชน์จากการนำเข้าอัญมณีและไม้จากพม่า รวมถึงการพัฒนาก๊าซธรรมชาติในพม่า และการวางท่อก๊าซจากชายฝั่งอาระกัน (Arakan) ของพม่าไปยังยูนนาน (Yunnan) ของจีน  นอกจากนี้ จีนยังอาศัยพม่าเป็นตลาดสินค้าอีกด้วย

2. อินเดีย เมื่อเทียบกับจีนจะมีอิทธิพลน้อยกว่า แต่อินเดียมีความมุ่งหวังที่จะใช้พม่าเป็นตัวถ่วงดุลกับจีน โดยไม่ต้องการให้จีนเข้ามามีอิทธิพลครอบงำพม่า นอกจากนี้ การร่วมมือกับพม่ายังจะช่วยลดปัญหากลุ่มกบฏในนาคาแลนด์ (Nagaland) มีตลาดที่จะขายอาวุธ และอินเดียยังสนใจที่จะพัฒนาก๊าซธรรมชาติในพม่า แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการเอาชนะคู่แข่งอย่างปิโตร-ไชน่า (Petro-China) ของจีนได้

ดังที่กล่าวมา ถึงแม้ว่าจีนจะมีอิทธิพลต่อพม่า แต่จีนก็ย้ำว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม จีนเองก็กังวลว่าหากรัฐบาลพม่าใช้ความรุนแรงเกินขอบเขต จีนอาจถูกตำหนิในฐานะผู้การสนับสนุนรัฐบาลที่ทำการปราบปรามประชาชน ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพพจน์ของจีนในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่จะมีขึ้น

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลทหารของพม่าคงจะไม่ยอมให้สถานการณ์ขยายวงกว้างออกไป จนเหนือขอบเขตการควบคุม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายถึงการสูญสิ้นอำนาจของกลุ่มผู้ปกครอง ดังนั้น มาตรการปิดล้อมหรือสกัดกั้นบุคคลที่เป็นแกนนำการชุมนุมคงจะมีการนำมาใช้ แต่ถ้าหากมีการใช้ความรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ย่อมทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลพม่ายิ่งตกต่ำลงไปอีก จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงไม่อาจที่จะสรุปได้ว่าฝ่ายต่อต้านจะยุติ เพราะกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลไม่ใช่ราคาน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว หากรวมไปถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฉะนั้น การจะเข้าไปดำเนินธุรกิจในพม่าขณะนี้ คงต้องรอดูสถานการณ์ว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางใด